หน่วยงาน / ผู้รับผิดชอบ
สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4
หลักการและเหตุผล
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เริ่มดำเนินการ โดยฝ่ายวิชาการโครงการส่วนพระองค์ฯ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี ๒๕๓๖สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมของโครงการ พ.ศ. ๒๕๓๖จนถึงปัจจุบัน
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีหน้าที่ในการสงวน คุ้มครอง ศึกษา วิจัย พัฒนาอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ แหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพืชและสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลนซึ่งมีความสำคัญทางด้านระบบนิเวศเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค แหล่งประกอบอาชีพและรายได้ของประชาชนในพื้นที่และต่อประเทศชาติ และในปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของประชากรของประเทศ ทำให้มีความต้องการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งเพิ่มขึ้น ทั้งทางด้านการท่องเที่ยว การประมง และการพัฒนาตามแนวชายฝั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระบบนิเวศทางทะเล ทั้งป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง ได้รับผลกระทบและเสื่อมโทรม
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอพระบรมราชานุญาตเข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตามแผนแม่บท โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ระยะ ๕ปีที่ห้า (๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙) ซึ่งโครงการ อพ.สธ.ได้มีประกาศ ที่ อพ.สธ. ๒๕/๒๕๕๖เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อพ.สธ.-ทช) ตั้งแต่วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๕ – ๓๐กันยายน ๒๕๕๙ โดยคณะกรรมการมีหน้าที่ดำเนินโครงการตามแผนแม่บทฯ งานพัฒนาสวนรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โครงการฯ
วัตถุประสงค์
1 เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
2 เพื่อสำรวจศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ในระบบนิเวศสำคัญในบริเวณป่าชายเลน
3 เพื่อจัดทำฐานข้อมูลข้อมูลทรัพยากรป่าชายเลน เป็นของชุมชน นำมาช่วยในการตัดสินใจ วางแผนการการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
4 เพื่อให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช
5 เพื่อให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช สื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ
ผลการดำเนินงาน
1 สำรวจพื้นที่ และจัดวางผังบริเวณเส้นทางและขอบเขตการขึ้นอยู่ของพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าชายเลน
2 สำรวจและประเมินศักยภาพทรัพยากรในพื้นที่ป่าชายเลน
3 สำรวจ นับและบันทึกข้อมูลพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในแปลงชั่วคราว
4 จัดหาพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่ไม่มีในแปลงสวนรวมพันธุ์มาปลูก/ปลูกเพิ่มเติม หรือติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอพันธุ์ไม้ที่ไม่ปรากฏในพื้นที่มาดำเนินการปลูก/ปลูกเพิ่มเติม
5 จัดทำแผนที่การขึ้นอยู่ของพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในสวนรวมพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าชายเลน
6 จัดทำแผ่นป้ายบรรยายให้ความรู้ด้านระบบนิเวศป่าชายเลนและพันธุ์ไม้ ๒ ภาษา
7 สำรวจ ดูแล บำรุงรักษาแปลงสวนรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์