หน่วยงาน
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก
หลักการและเหตุผล
เต่าทะเลจัดเป็นสัตว์สงวนและคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตามปัจจุบันเต่าทะเลกำลังอยู่ในสภาวะถูกคุมคามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต่าทะเลชนิดเต่ากระ มีจำนวนลดลงมาก เนื่องจากในอดีตมีการใช้ประโยชน์จากกระดองของเต่ากระที่สวยงามเพื่อนำมาทำเป็นเครื่องประดับ นำเนื้อและไข่มารับประทาน จึงได้มีการก่อตั้งโครงการสมเด็จ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ เกาะมันใน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เมื่อปี พ.ศ. 2522 และได้ดำเนินงานอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยทำการเพิ่มปริมาณเต่าทะเลจากการเลี้ยงดูแลให้มีขนาดใหญ่และเหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ดังนั้นการศึกษาวิจัยด้านการอนุรักษ์เต่ากระ จึงได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นการช่วยดูแลและอนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์ทะเลประเภทนี้ มิให้สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทย
วัตถุประสงค์
1 เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจาพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
2 เพื่อเพิ่มจำนวนเต่ากระซึ่งมาจากแหล่งฟักไข่ธรรมชาติโดยการเพาะเลี้ยงและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
3 เพื่อทราบสถานการณ์สุขภาพของเต่ากระที่มาจากแหล่งที่อยู่ธรรมชาติ
พื้นที่ดำเนินการ
จังหวัดชลบุรี และระยอง
ผลการดำเนินงาน
1 ทำการทดลองอนุบาลลูกเต่ากระ รวมทั้งสิ้น 94 ตัว อนุบาลจนลูกเต่ามีอายุครบ 1 ปี เหลือรอดจำนวน 39 ตัว คิดเป็นร้อยละ 41.5 และทำการปล่อยลูกเต่ากลับลงทะเลได้จำนวน 22 ตัว คงเหลือเตรียมปล่อย 16 ตัวและยังป่วยอีก 1 ตัว
2 ศึกษาติดตามการเจริญเติบโตในการอนุบาลลูกเต่ากระ พบว่าอัตราการเพิ่มน้ำหนักตัว เท่ากับ 0.32 - 0.55% ของน้ำหนักตัวต่อวัน เมื่อเต่ามีอายุเกินกว่า 1 ปี และมีการให้อาหารแต่ละวัน ประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว -ทดลองความถี่ในการให้อาหารเลี้ยงลูกเต่ากระ สรุปได้ว่าเต่ากระเจริญเติบโตดีที่สุดเมื่อให้อาหาร 2 มื้อเช้าและเย็น