หน่วยงาน / ผู้รับผิดชอบ
สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6
หลักการและเหตุผล
แนวปะการังของประเทศไทย ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยมีพื้นที่รวมกัน 148,955 ไร่ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2558) มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นที่อยู่อาศัยหลบภัย วางไข่ เลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อนและสิ่งมีชีวิตนานาชนิดมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งประกอบอาชีพประมง และการท่องเที่ยวช่วยสร้างงาน และรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นและต่อประเทศโดยเฉพาะการท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศไปเที่ยวดูปะการังเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันแนวปะการังของไทยหลายพื้นที่ อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากภัยธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวและปะการังตายเป็นบริเวณกว้าง การระบาดของปลาดาวหนามที่กินปะการังเป็นอาหารผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2546 นอกจากนี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์จากกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ การทำประมง การท่องเที่ยวเช่น การดำน้ำดูปะการัง ทำให้มีการเดินเหยียบย่ำ หรือเก็บปะการังของนักท่องเที่ยว การทิ้งสมอเรือประมงและเรือท่องเที่ยวการทิ้งขยะ ของเสีย ผลกระทบจากตะกอนที่เกิดจากการก่อสร้างในพื้นที่ชายฝั่งที่ไหลลงสู่ทะเลทับถมแนวปะการัง เป็นต้น จากรายงานสถานภาพแนวปะการังของไทย พบว่าแนวปะการังมีสภาพเสื่อมโทรมลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ จากสภาพปกติ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2558)
เพื่อเป็นการลดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังปี พ.ศ. 2557 – 2558 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้จัดวางปะการังเทียมเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติ สำหรับเป็นฐานของตัวอ่อนปะการัง ในพื้นที่แนวปะการังที่เสื่อมโทรมและมีศักยภาพในการฟื้นฟูเช่นเกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต จากการติดตามผลพบว่าบริเวณที่จัดวางปะการังเทียม มีเศษปะการังที่แตกหักล่วงหล่นและยังมีชีวิตเป็นจำนวนมาก และปล่อยไว้ก็จะตาย จึงได้มีแนวคิดระดมนักดำน้ำอาสาสมัครช่วยเก็บเศษปะการังไปติดบนแท่งปะการังเทียม ซึ่งได้ดำเนินการในปี 2559 และได้ผลอย่างชัดเจนสามารถย่นระยะเวลาการฟื้นฟูแนวปะการังให้ได้ผลเร็วขึ้น จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่ามีกลุ่มนักดำน้ำอาสาสมัครในพื้นที่ต่างๆ สนใจจะเข้าร่วมในการฟื้นฟูแนวปะการังเป็นจำนวนมาก
วัตถุประสงค์
1 เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
2 เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่เสื่อมโทรม ในพื้นที่จังหวัดพังงา
3 เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูปะการังทุกภาคส่วนทั้งประชาชน และกลุ่มอาสาสมัครนักดำน้ำ
สถานที่ดำเนินงาน
พื้นที่แนวปะการังเกาะไข่ใน เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย จ.พังงา
ผลการดำเนินงาน
ติดตามผลการฟื้นฟูแนวปะการังโดยการปลูกเสริม ในพื้นที่จังหวัด ในปี 2564 ได้แก่ เกาะไข่ใน เกาะไข่นอก เกาะไข่นุ้ย จ.พังงา รวมทั้งหมด 5 ไร่ 8,000 โคโลนี