หน่วยงาน / ผู้รับผิดชอบ
สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5
หลักการและเหตุผล
ป่าชายเลน เป็นทรัพยากรชายฝั่งที่มีคุณค่าเอื้อประโยชน์คู่สังคมไทยมาช้านาน คุณค่าและประโยชน์ของป่าชายเลนมีมากมายมหาศาลทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ปัจจุบันพบว่า ป่าชายเลนยังถูกบุกรุกทำลายและสร้างความเสื่อมโทรมในหลายพื้นที่กระจายอยู่ทั่วไป มีการนำทรัพยากรภายในป่าชายเลนมาใช้มากจนเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะผลิตขึ้นทดแทนได้ พันธุ์ไม้ท้องถิ่นบางชนิดได้หายไปทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศป่าชายเลนโดยตรง และระบบนิเวศประเภทอื่นๆที่เกี่ยวข้องบริเวณชายฝั่ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 (นครศรีธรรมราช) จึงได้จัดทำโครงการคืนไม้ใกล้สูญพันธุ์สู่พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพืชพรรณไม้ และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มีความตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อที่จะรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นให้มีความอุดมสมบูรณ์ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
1 เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2 สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ของทรัพยากรป่าชายเลน ในท้องถิ่น
3 ส่งเสริมให้ชุมชนในท้องถิ่นได้รับความรู้และเกิดความตระหนักในการหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่นของชุมชนต่อไป
พื้นที่/สถานที่ดำเนินงาน
พื้นที่ป่าชายเลน ในเขตความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
1 พื้นที่ตำบลท่าไร่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
2 พื้นที่ตำบลท่าซัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผลการดำเนินงาน
ทำการคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหายาก/เฉพาะถิ่น 4 ชนิด ได้แก่ น้ำนอง หลุมพอทะเล ตะบูนขาว และมะพลับ โดยนำมาเพาะขยายพันธุ์ปลูกในแปลงพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ในโรงเรือน สำหรับเตรียมนำพันธุ์ไม้ที่ขยายพันธุ์ได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ และให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ต่อไป