หน่วยงาน / ผู้รับผิดชอบ
สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 80,922 ไร่ กระจายอยู่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอขนอม อำเภอท่าศาลา อำเภอเมือง และอำเภอปากพนัง ซึ่งมีการสำรวจโครงสร้างป่าพบว่า พันธุ์ไม้ป่าชายเลนนั้นขาดความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ และขาดแหล่งแม่ไม้ที่สำคัญต่อการแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยพบว่า ต้นโกงกางใบเล็กมีความหนาแน่นเฉลี่ยต่อไร่มากที่สุด รองลงมาคือ ถั่วขาวและตะบูนขาว ตามลำดับ ส่วนพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ นั้น พบการกระจายเพียงเล็กน้อย ได้แก่ แสมขาว ตะบูนขาว พังกาหัวสุมดอกแดง โปรงขาว ตาตุ่มทะเล โกงกางใบใหญ่ ฝาดดอกแดงตะบูนดําลําแพน หลุมพอทะเล ลําพู โปรงแดง โพทะเล ปอทะเล หงอนไก่ทะเล ฝาดดอกขาว มะพลับแคทะเล เสม็ดขาว ลําพูทะเล และถั่วดํา
ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 (ปากพนัง นครศรีธรรมราช) สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์ชายฝั่ง เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ตามแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ/กระทรวง ที่ 5 ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ) และเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด
โครงการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนหายาก/เฉพาะถิ่นเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ไม้มีค่าหายาก ให้มีปริมาณที่มากขึ้น ไม่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตลอดจนไม้ที่เคยมีอยู่แต่ได้สูญหายจากพื้นที่ไปแล้ว ให้ได้รับการปลูกฟื้นฟู ทดแทน และได้รับการดูแลรักษาให้เป็นแหล่งแม่ไม้ที่สำคัญต่อการแพร่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติต่อไป อันเป็นการบริหารจัดการพื้นที่และพันธุกรรมสอดคล้องตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วัตถุประสงค์
1 เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2 เพื่อฟื้นฟูแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนหายาก/เฉพาะถิ่นให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น และมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์
3 เพื่อจัดทำฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหายาก/เฉพาะถิ่น สำหรับใช้ในการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พื้นที่/สถานที่ดำเนินงาน
ดำเนินการในพื้นที่ป่าชายเลน ท้องที่ตำบลคลองน้อย และตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผลการดำเนินงาน
ทำการศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่เป็นพันธุ์ไม้หายาก/เฉพาะถิ่น จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ มะพลับ ตะบูนขาว (จังหวัดนครศรีธรรมราช) จากนั้น ทำการวางแปลงตัวอย่าง จำนวน 4 แปลงต่อพันธุ์ไม้ 1 ชนิด เพื่อเก็บข้อมูลชนิดพันธุ์ ขนาดเส้นรอบวงของลำต้น ความสูง และความสูงจากพื้นดินจนถึงกิ่งแรก ตำแหน่งของพันธุ์ไม้ที่พบในแปลงแต่ละชนิด และข้อมูลไปวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคำนวณหาความหนาแน่น ค่าเฉลี่ยของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ความสูง และความสูงจากพื้นดินจนถึงกิ่งแรกที่มีชีวิต รวมถึงจัดทำแผนภูมิการกระจายของพันธุ์ไม้