โครงการที่ 5 สำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุกรรมพืชและสัตว์บริเวณลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง โครงการที่ 5 สำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุกรรมพืชและสัตว์บริเวณลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง
364 view

หน่วยงาน / ผู้รับผิดชอบ

           ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก     

หลักการและเหตุผล

           ตำบลปากน้ำกระแส มีเนื้อที่ 3,037.5 ไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ 4.87 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ลาดต่ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยทางทิศใต้ ซึ่งมีชายฝั่งทะเลเว้าแหว่งติดอ่าวไทยยาวประมาณ 1-3 กิโลเมตร มีแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำประแส ซึ่งมีความยาวประมาณ 5 - 8 กิโลเมตร โดยมีต้นกำเนิดจากทิวเขาในจังหวัดจันทบุรีไหลผ่านท้องที่ต่าง ๆ ในอำเภอแกลง และไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลปากน้ำประแส บริเวณริมฝั่งลุ่มน้ำประแสมีการใช้ประโยชน์มากมาย เช่นการทำนากุ้ง เลี้ยงปลาน้ำกร่อยนอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งทำการประมงของชุมชนประมงชายฝั่ง ที่สำคัญ และมีท่าเรือประมงขนาดใหญ่ ปากแม่น้ำจึงเป็นชุมชนหนาแน่น เป็นแหล่งการค้าของตำบล บางพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรถาวร มีลักษณะเป็นดินเหนียว เป็นที่ราบดินตะกอนดูดซับน้ำได้ดี พื้นที่ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นดินทรายบางแห่งเป็นที่ลุ่มน้ำขัง เหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงชายฝั่งและเป็นแหล่งท่องเที่ยว
           ด้วยปัจจัยด้านภูมิสัณฐานที่เหมาะสมและมีระบบ สามน้ำ ได้แก่น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ของลุ่มน้ำประแสจึงส่งผลให้ลุ่มน้ำประแสมีทรัพยากรป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์และมีหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์ป่าชายเลน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ซึ่งจัดเป็นระบบนิเวศที่สำคัญซึ่งเชื่อมโยงระหว่างผืนแผ่นดินกับน้ำทะเล มีความอ่อนไหวและเปราะบาง และเปลี่ยนแปลงสภาพไปตามทิศทางการผันแปรของกระแสน้ำและคลื่นลม จึงเหมาะสม เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ตลอดจนนกทะเลและนกในป่าชายเลนที่หายากหลากหลายนิด เช่นเหยี่ยวแดงคอขาว และนกหลากหลายชนิดอยู่อาศัยพักพิง ซึ่งใช้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ป่าชายเลนได้ชนิดหนึ่ง  ในขณะเดียวกันมีสัตว์บกสามารถเข้ามาอาศัยและแสวงหาอาหารที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในป่าชายเลน ทำให้พื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิ่งมีชีวิตทั้งพืชน้ำและสัตว์นานาชนิด ดังนั้นจึงสมควรที่จะทำการศึกษา รวบรวมตัวอย่างพันธุกรรมพืชและสัตว์บริเวณลุ่มน้ำประแสและหมู่เกาะมันเพื่อเป็นทั้งข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลเปรียบเทียบกับนิเวศของเกาะอื่น ๆ ของไทยและการจัดการเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

           กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงขอพระบรมราชานุญาตให้โครงการดังกล่าว ร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตามแผนแม่บท โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ระยะ 5 ปีที่หก (1 ตุลาคม 2559– 30 กันยายน 2564)

วัตถุประสงค์

          1 เพื่อสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          2 เพื่อสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชและสัตว์ บริเวณลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง สำหรับเป็นฐานข้อมูลทางชีวภาพของพื้นที่

          3 เพื่อเก็บรวบรวมทรัพยากรชีวภาพ ในรูปแบบ ตัวอย่างแห้ง และตัวอย่างดอง สำหรับเป็นตัวอย่างในการศึกษาหรือเก็บในพิพิธภัณฑ์

          4 เพื่อเก็บพันธุกรรมทรัพยากร สำหรับเป็นตัวอย่าง การเก็บเมล็ดในห้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การเก็บต้นมีชีวิตเพื่อนำไปปลูกในที่ปลอดภัย หรือนำมาขยายพันธุ์ต่อได้

ผลการดำเนินงาน

          จากการสำรวจความหลากหลายของชนิดปูในพื้นที่ป่าชายเลนปากน้ำประแส จ.ระยอง ซึ่งการสำรวจโดยใช้กรอบพื้นที่ (quadrant) พบทั้งหมด 3 วงศ์ ส่วนปูที่พบนอกกรอบพื้นที่ทั้งหมด 9 วงศ์ 13 ชนิด เป็นปูที่แท้จริง (Brachyura) 12 ชนิด และเป็นปูไม่แท้จริง (Anomura) 1 ชนิด ซึ่งวงศ์ที่มีความหลากหลายของชนิดปูมากที่สุดคือ Sesarmidae พบ 3 ชนิด, Varunidae พบ 2 ชนิด นอกจากนี้พบวงศ์ Grapsidae, Diogenidae, Pilumnidae, Ocypodidae, Dotillidae, Porcellanidae และ Menippidae วงศ์ละ 1 ชนิด ปูที่มีความชุกชุมสูงสุดที่พบในป่าชายเลนปากน้ำประแส ได้แก่ ปูแสมก้ามส้ม ,ปูแสม, ปูใบ้, ปูแสมหินก้ามม่วง, ปูก้ามดาบก้ามยาว, ปูเสฉวนเล็บยาว, ปูตัวแบน, ปูแสมก้ามยาว, ปูแสมก้ามแดง, ปูทหาร, ปูแสมดำ และปูใบ้ก้ามโต ลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่ใกล้ลำคลอง 

พื้นที่ที่ทำการสำรวจความหลากหลายของปูบริเวณป่าชายเลนปากน้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง

ที่มา : Google Earth (2020)

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง