หน่วยงาน / ผู้รับผิดชอบ
ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.)
หลักการและเหตุผล
แนวปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลและทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ นอกเหนือจากแหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน หาดหิน หาดทราย แนวปะการังมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณ เป็นแหล่งอาศัย หลบภัย หากิน วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำนานาชนิด นอกจากความสำคัญด้านนิเวศวิทยาแล้ว แนวปะการังยังมีความสำคัญในแง่ของความผูกพันระหว่างวิถีชุมชนในพื้นที่ชายฝั่ง ตลอดจนความสำคัญด้านเศรษฐกิจระดับประเทศ เช่น การประมงและการท่องเที่ยว
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีภารกิจในการสำรวจวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศแนวปะการังเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของทะเลไทย
จังหวัดชลบุรีมีแนวปะการังกระจายตามบริเวณเกาะและชายฝั่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดประมาณ 6,478 ไร่ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2558) โดยมีพื้นที่แนวปะการังครอบคลุมตั้งแต่หมู่เกาะสีชังไปจนถึงหมู่เกาะแสมสาร
วัตถุประสงค์
1 เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
2 เพื่อให้ทราบสถานภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแนวปะการังจังหวัดชลบุรี
3 เพื่อให้ทราบลักษณะองค์ประกอบประชาคมของปะการัง แนวโน้มความเสื่อมโทรม หรือการฟื้นตัวในระยะยาว รวมทั้งนำข้อมูลไปใช้ในการให้ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการพื้นที่ต่อไป
4 จัดทำแผนที่และสรุปข้อมูลสถานภาพแนวปะการัง เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สถานที่ดำเนินงาน
แนวปะการังที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก บริเวณจังหวัดชลบุรี จำนวนไม่ต่ำกว่า 4,000 ไร่
ผลการดำเนินงาน
ดำเนินการสำรวจประเมินและติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพแนวปะการัง ด้วยวิธี Line Intercept Transect จำนวน 30 สถานี คิดเป็นพื้นที่ 4,690 ไร่ หรือ 72.4% ของพื้นที่แนวปะการังทั้งหมดของจังหวัดชลบุรี พบว่า
- แนวปะการังที่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก จำนวน 16 สถานี
- แนวปะการังที่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดี จำนวน 7 สถานี
- แนวปะการังที่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง จำนวน 5 สถานี
- แนวปะการังที่อยู่ในสถานภาพเสียหายมาก จำนวน 2 สถานี
ข้อมูลสถานภาพปะการังจังหวัดชลบุรีในปี พ.ศ. 2564 พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพสมบูรณ์ดีมาก มีแนวโน้มการฟื้นตัวของแนวปะการังดีขึ้น โดยพบว่ามีสัดส่วนของสถานภาพสมบูรณ์ดีมากเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 สอดคล้องกับการครอบคลุมพื้นที่ของปะการังมีชีวิตที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงศักยภาพของแนวปะการังสามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ แนวปะการังสามารถฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ