โครงการที่ 3 สำรวจประเมินแหล่งหญ้าทะเล บริเวณพื้นที่ อพ.สธ. จังหวัดชลบุรี โครงการที่ 3 สำรวจประเมินแหล่งหญ้าทะเล บริเวณพื้นที่ อพ.สธ. จังหวัดชลบุรี
274 view

หน่วยงาน / ผู้รับผิดชอบ

           ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.)

หลักการและเหตุผล

           กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีภารกิจหลักในการวิจัยสำรวจประเมินสถานภาพรวมทั้งศักยภาพของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการทรัพยากรฯของทะเลไทย ซึ่งหมายรวมถึงทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยทำการวิจัยด้านวิชาการและการมีส่วนร่วมโดยบทบาทของภาคท้องถิ่น

           แหล่งหญ้าทะเลเป็นทรัพยากรหนึ่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้สำรวจประเมินสถานภาพเป็นประจำทุกปี ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ภายใต้การปฏิบัติงานของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตัวันออก (ศวบอ.) โดยพบในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

           แหล่งหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะพะยูนและเต่าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำ แหล่งหญ้าทะเลช่วยดักจับตะกอนและเป็นกำแพงชั้นดีในการลดความแรงของกระแสน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่ช่วยในการกักเก็บคาร์บอนหรือช่วยลดโลกร้อนได้

วัตถุประสงค์

          1 เพื่อสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   

          2 เพื่อทราบชนิด ความหลากหลาย การแพร่กระจายและสถานภาพของหญ้าทะเลในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก

          3 เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำฐานข้อมูลและจัดทำรายงานสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

สถานที่ดำเนินงาน  จังหวัดชลบุรี

ผลการดำเนินงาน

ดำเนินการสำรวจสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่ จ.ชลบุรี คิดเป็นพื้นที่ เท่ากับ 5,059 ไร่ โดยคิดเป็นพื้นที่หญ้าทะเล เท่ากับ 1,541 ไร่ พบหญ้าทะเลทั้งสิ้น จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ 
          1 หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis)***
          2 หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia)**
          3 หญ้าใบมะกรูด (Halophila ovalis)**
          4 หญ้าเงาใส (Halophila decipiens)
          5 หญ้าเงาแคระ (Halophila minor)
          โดยมีหญ้ากุยช่ายทะเลเป็นหญ้าทะเลชนิดเด่น รองลงมา คือ หญ้ากุยช่ายเข็มและหญ้าใบมะกรูด ตามลำดับ สถานภาพหญ้าทะเลอยู่ในระดับสมบูรณ์เล็กน้อยถึงสมบูรณ์ดี (ร้อยละการปกคลุมของหญ้าทะเล  5-70) พบหญ้าทะเล แพร่กระจายในระดับความลึก 1.0-7.4 เมตร 

        

 

 

ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง