
หลักการและเหตุผล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) มีนโยบายให้จัดทำโครงการป่าไม้เมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2560 - 2579) ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำ และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560 - 2564 ยุทธศาสตร์ที่ การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 1 รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ด้านการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
พื้นที่ป่าชายเลนริมถนนท่าเมือง บริเวณชุมชนด่านท่าเมือง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นผืนป่าชายเลนธรรมชาติเก่าแก่ดั้งเดิมที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ และมีต้นโกงกาง อายุประมาณ 200 ปี หลงเหลืออยู่หลายต้นมีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ลึกเข้าไปด้านในป่าแปลงนี้ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับป่าชายเลนบริเวณท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลบางนอน และหมู่ที่ 5 ตำบลปากน้ำอำเภอเมือง จังหวัดระนอง มีเนื้อที่ประมาณ 2,060 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 10 (เมือง ระนอง) ได้ดำเนินการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วม จนกลับคืนความอุดมสมบูรณ์สมบูรณ์เป็นลำดับ ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ได้มีการพัฒนาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เพื่อเป็นการจัดการและประสานประโยชน์ให้เกิดการมีส่วนร่วมปกป้องคุ้มครองและอนุรักษ์ป่าชายเลนให้คงอยู่อย่างยั่งยืนปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่รวมประมาณ 2,050 ไร่จึงเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ด้านธรรมชาติป่าชายเลนและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เป็นที่รู้จักของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนชาวจังหวัดระนองภายใต้ชื่อ “ป่าชายเลนกลางเมืองระนอง”
สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 พิจาณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ป่าชายเลนกลางเมืองระนอง เนื้อที่ประมาณ 2,080 ไร่ ดังกล่าวข้างต้น เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม สามารถพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการป่าไม้ในเมือง ตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีฯ ได้ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม สำนักฯ จึงนำพื้นที่ป่าชายเลนกลางเมืองเข้าสู่โครงการในเมืองจังหวัดระนอง “สวนป่าประชารัฐเพื่อความสุขของคนไทย”
วัตถุประสงค์
1. เพื่อคุ้มครองป้องกันรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุยบริเวณพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองระนองให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
2. เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองระนองให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์สามารถอำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อย่างสูงสุดและยั่งยืน
3. เพื่อพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองระนอง ให้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย แหล่งหนึ่งของจังหวัดระนอง
4. เพื่อส่งเสริมการสร้างการเมืองสีเขียวที่มีภูมิทัศน์สวยงาม และเป็นเมืองน่าอยู่
5. เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เด็กๆเยาวชน และประชาชน ในการอนุรักษ์ป่าชายเลนในเมืองระนองอย่างยั่งยืน
เป้าหมาย
1. พื้นที่ป่าชายเลนในเมืองระนองได้รับการคุ้มครอง ดูแล บำรุงรักษา โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคส่วน ให้มีความอุดมสมบูรณ์และคงอยู่ไม่น้อยกว่า ๒,๐๘๐ ไร่โดยไม่ถูกบุกรุก
2. พื้นที่ป่าชายเลนกลางเมืองระนองเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนกลางเมืองระนอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายแหล่งหนึ่งของจังหวัดระนอง
3. ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น เด็กๆ เยาวชน ประชาชนทั่วไป มีจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนในเมืองระนองมากขึ้น
ขอบเขตกิจกรรมการดำเนินงานภายใต้โครงการป่าในเมือง “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย”
เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ จึงกำหนดกิจกรรมการดำเนินงานภายใต้โครงการฯไว้ ดังนี้
1. กิจกรรมจัดทำแนวเขตป่าชายเลนในเมืองที่ถาวรเพื่อป้องกันการบุกรุก โดยการขุดคูแพรก หรือรั้ว/กำแพงคอนกรีต
2. กิจกรรมปลูกและบำรุงป่าเพื่อฟื้นฟูและปรับปรุงสภาพป่าชายเลนในเมือง
3. กิจกรรมแหล่งจัดทำรวมพันธุ์ไม้ และอนุรักษ์พันธุ์ไม้เก่าแก่ดั้งเดิมในพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองระนอง
4. กิจกรรมการจัดทำพื้นที่สาธิตด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
5. กิจกรรมจัดทำทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน และหอชมป่าชายเลนในเมือง
6. กิจกรรมจัดทำอาคารศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน และห้องน้ำสาธรณะเพื่อการท่องเที่ยว
7. กิจกรรมจัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ ศาลา/อาคารนิทรรศการ
8. กิจกรรมปรับภูมิทัศน์ตามสภาพภูมินิเวศป่าชายเลน
9. กิจกรรมจัดทำพื้นที่ออกกำลังกาย (outdoor sport areas) และพื้นที่เล่น (play areas)
10. กิจกรรมจัดการขยะในป่าชายเลน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. สามารถคุ้มครองดูแลรักษาพื้นที่ชายเลนในเมืองจังหวัดระนองได้อย่างยั่งยืน
2. พื้นที่ป่าชายเลนในเมืองกลับคืนความสมบูรณ์ สามารถอำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อย่างสูงสุด
3. ป่าชายเลนในเมืองจังหวัดระนองเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย แหล่งหนึ่งของจังหวัดระนอง
4. ช่วยให้เมืองระนองมีพื้นที่สีเขียว ภูมิทัศน์สวยงาม และเป็นเมืองน่าอยู่
5. ชุมชนท้องถิ่น เด็กๆ เยาวชน และประชาชน เกิดความรัก หวงแหน ตระหนักในคุณค่าความสำคัญของป่าชายเลน และเข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนมากขึ้น