ชื่อโครงการ : ทุ่งโปรงทองมหัศจรรย์ป่าชายเลนปากน้ำประแส
หน่วยงานดำเนินการ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ผู้รับผิดชอบ : ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1
หน่วยงานสนับสนุนโครงการ : องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และเทศบาลตำบลปากน้ำประแส
1. หลักการและเหตุผล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำโครงการป่าในเมืองเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยตรง และร่วมกันรักษาไว้ได้อย่างยั่งยืน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 ให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1– 7 สำรวจคัดเลือกพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการป่าในเมืองในพื้นที่รับผิดชอบโดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ดำเนินโครงการร่วมกัน สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จึงได้กำหนดพื้นที่จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคราชการ ท้องถิ่น เอกชนและประชาชนในการสงวน อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเป็นการบริหารจัดการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำประแสร์ ท้องที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยองซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนประแส และป่าพังราด และอยู่ในเขตอนุรักษ์ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 1,000 ไร่ ให้เป็นป่าในเมือง ตามนโยบาย “สวนป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย”สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จึงได้จัดทำโครงการป่าในเมืองจังหวัดระยอง“ทุ่งโปรงทองมหัศจรรย์ป่าชายเลนปากน้ำประแส”
2.วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์
3.2 เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และท่องเที่ยวเชิงนิเวศทรัพยากรป่าชายเลน
3.3 เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชนและประชาชนแบบประชารัฐในการบริหารจัดการป่าชายเลนในเมืองให้เกิดความสมบูรณ์และยั่งยืน
3.4 เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม รองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้กับประชาชนจังหวัดระยองและประเทศ
3.เป้าหมาย
การพัฒนาและส่งเสริมพื้นที่ป่าชายเลนและแม่น้ำประแสร์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศ ท้องที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
3.1 จัดทำสะพานทางเดินธรรมชาติป่าชายเลน (Board Walk)
3.2 จัดทำศาลาเรียนรู้/พักผ่อน ชมป้ายสื่อความรู้ด้านระบบนิเวศป่าชายเลน
3.3 จัดทำหอชมนก/หอชมเรือนยอดไม้ จำนวน 1 จุด
3.4 ปรับปรุงทางเดินศึกษาธรรมชาติ
3.5 จัดทำลานจอดรถ/ลานขายของที่ระลึก/ลานขายของชุมชน
3.6 จัดทำเรือนเพาะชำกล้าไม้ชุมชน
3.7 จัดทำศูนย์เพาะพันธุ์ปู/สัตว์น้ำป่าชายเลน
3.8 จัดทำป้ายสื่อความหมายพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ตามแนวทางเดินศึกษาธรรมชาติตลอดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
4.พื้นที่ดำเนินการ
ดำเนินการในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำประแสร์ ท้องที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนประแส และป่าพังราด และอยู่ในเขตอนุรักษ์ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 1,000 ไร่
5. การดำเนินงาน
5.1 สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 โดยสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 (ระยอง) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง อำเภอแกลง เทศบาลตำบลปากน้ำประแสและเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง พิจารณาดำเนินการการวางแผนผัง และจัดทำโครงการ
5.2 สำรวจศึกษาพื้นที่ป่าชายเลนในการกำหนดพื้นที่ดำเนินการ
5.3 พัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนปากแม่น้ำประแส เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านระบบนิเวศชายฝั่งและฟื้นฟูป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ ท้องที่ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยจัดทำสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ศาลาเรียนรู้/พักผ่อน ป้ายสื่อความรู้ด้านระบบนิเวศป่าชายเลน หอชมเรือนยอดไม้ ปรับปรุงทางเดินศึกษาธรรมชาติ เรือนเพาะชำกล้าไม้ชุมชน ศูนย์เพาะพันธุ์ปู/สัตว์น้ำป่าชายเลน ลานจอดรถ/ลานขายของชุมชน และป้ายสื่อความหมายพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ตามแนวทางเดินศึกษาธรรมชาติตลอดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
5.4 สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการโครงการ โดยมีหน่วยงานจังหวัดระยอง สำนักงานรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง อำเภอแกลง เทศบาลตำบลปากน้ำประแส เครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และองค์กรเอกชน เป็นคณะทำงานร่วมกันในการดำเนินโครงการ
6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
6.1 พื้นที่ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำประแสร์ จำนวน 1,000 ไร่ ได้รับการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์
6.2 ป่าชายเลน 1 แห่ง ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
6.3 ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมของจังหวัดระยอง เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
6.4 เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าชายเลนในเมืองของภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และประชาชน แบบประชารัฐให้เกิดความสมบูรณ์ มั่นคงและยั่งยืน