แนวปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ นอกจากจะมีปะการังที่เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นสัตว์กลุ่มใหญ่ ที่สามารถสร้างแนวก่อให้เกิดแนวปะการังที่มีความสลับซับซ้อนได้แล้วนั้น แนวปะการังยังมีสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีกหลากหลายชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความหลากหลายของระบบนิเวศแนวปะการัง ซึ่งจัดว่าเป็นทรัพยากรที่เป็นองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแนวปะการังอีกด้วย โดยสามารถจำแนกออกเป็นไฟลัมได้ดังนี้
1. ไฟลัม Porifera เช่น ฟองน้ำ
2. ไฟลัม Coelenterata เช่น ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน
3. ไฟลัม Mollusca เช่น หอย หมึกและทากทะเล
4. ไฟลัม Arthropoda เช่น กุ้ง และปู
5. ไฟลัม Echinodermata เช่น เม่นทะเล ปลิงทะเล และดาวทะเล
6. ไฟลัม Chordata เช่น เพรียงหัวหอม ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกเป็นแกนภายในร่างกาย บางชนิดอาจมีโครงร่างแข็งที่ไม่ใช่กระดูกอยู่ภายในลำตัวเพื่อช่วยค้ำจุนร่างกาย บางชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มอยู่ภายนอก เพื่อป้องกันอันตรายและใช้ยึดกล้ามเนื้อ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังจะมีการปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างและรูปทรงที่หลากหลายของปะการัง ทั้งที่เป็นปะการังกิ่งก้าน พุ่ม โขด แผ่น และเคลือบผิว ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นอยู่อาศัย หาอาหาร หลบภัย วางไข่ หรือเจริญพันธุ์ โดยที่บางชนิดฝังตัวอยู่ภายในโครงสร้างปะการัง บางชนิดอาศัยอยู่บนปะการัง หรือบางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำเหนือแนวปะการัง
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในแนวปะการังมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศอย่างสูง ก่อให้เกิดระบบห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการถ่ายทอดสสารและพลังงานจากน้ำภายนอกสู่ระบบนิเวศ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบห่วงโซ่อาหารภายในระบบนิเวศ เช่น ปลิงทะเล มีบทบาทในการแปรสภาพตะกอนสารอินทรีย์ให้มีขนาดเล็กลงซึ่งง่ายต่อการที่แบคทีเรียหรือผู้ย่อยสลายอื่นๆ จะนำไปใช้ประโยชน์ เม่นทะเลที่ครูดกินสาหร่าย ช่วยควบคุม การแพร่กระจาย และอัตราการสร้างผลผลิตของสาหร่ายตามพื้นแนวปะการัง หอยมือเสือและฟองน้ำครกจะกรองกินอาหารที่ลอยมาตามน้ำและช่วยในการดูดกรองฝุ่นตะกอนทำให้น้ำในบริเวณนั้นใสสะอาด ปู และกุ้งที่อาศัยอยู่ตามซอกหรือกิ่งก้านปะการัง จะกินตะกอนและสาหร่ายที่อยู่บนโคโลนีปะการัง ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันการทับถมของตะกอนและการเพิ่มปริมาณของสาหร่ายได้อีกทางหนึ่ง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดยังช่วยส่งเสริมความสวยงามให้กับแหล่งอาศัย เช่น ดอกไม้ทะเลซึ่งมีปลาการ์ตูนเข้ามาอาศัยอยู่แบบพึ่งพาอาศัย ทากเปลือย และดาวขนนกที่มีสีสันสวยงาม อีกทั้งยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแนวปะการังได้อีกด้วย
วิธีการสำรวจสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
ดำเนินการสำรวจชนิดและความชุกชุมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ใช้วิธีวางแนวสำรวจเช่นเดียวกับการสำรวจปะการังแบบ photo belt transect โดยใช้เส้นเทปของ transect line ความยาว 30 เมตร วางในแนวขนานกับชายฝั่ง ต่อเนื่องกันในแต่ละสถานี (ใช้แนวสำรวจเดียวกับแนวสำรวจปะการังและปลา)
ใช้นักดำน้ำที่มีความสามารถในการจำแนกชนิดสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ว่ายเคลื่อนที่ช้าๆ ตามแนวสำรวจ บันทึกชนิด และจำนวนสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบในพื้นที่โดยใช้สายตามองไปข้างหน้ากะระยะห่างออกจากด้านข้างของ transect line ทั้งซ้าย และขวา ด้านละ 2.5 เมตร ทั้ง 2 ด้านของเส้นเทปวัด ตลอดความยาวเส้นเทป 30 เมตร เว้นระยะ 1-3 เมตร แล้วเริ่มบันทึกใหม่ทุกๆ ระยะทาง 30 เมตร ตลอดความยาว 90 เมตร จะได้จำนวนซ้ำทั้งหมด 3 ซ้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางเมตร
การจำแนกชนิดและความชุกชุมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่จะดำเนินการในขณะทำการสำรวจภาคสนาม โดยเน้นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 5 ไฟลัม คือ Porifera, Coelenterata, Mollusca, Arthropoda และEchinodermata ในกรณีที่ไม่สามารถจำแนกชนิดได้ ทำการบันทึกภาพและนำมาเปรียบเทียบกับเอกสารและคู่มือช่วยจำแนกชนิด นำข้อมูลที่ได้คำนวณค่าเปอร์เซ็นต์ความชุกชุมของแต่ละสถานี และเปอร์เซ็นต์ความหลากหลายของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทั้งเกาะเต่า