ปลาในแนวปะการังแสดงความสัมพันธ์อย่างเด่นชัดกับความหลากหลายของถิ่นที่อยู่อาศัย (reef fish habitat relationship) เนื่องจากแนวปะการังมีลักษณะทางกายภาพและความสมบูรณ์ทางชีวภาพที่ทำให้เกิดความหลากหลายในถิ่นที่อาศัยและแหล่งอาหาร โครงสร้างของปะการังแต่ละชนิดสามารถเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำหรับปลาขนาดต่างๆ ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มปลาที่มีขนาดเล็กโดยเฉลี่ยและเจริญวัยเป็นปลาที่เจริญพันธ์ุในบริเวณแนวปะการัง และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มปลาวัยอ่อนที่เข้ามาเพื่อสร้างกลุ่มประชากรในบริเวณแนวปะการัง และปลาขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ล่ามักจะเคลื่อนที่ไปมาระหว่างแนวปะการังและบริเวณใกล้เคียง ปลาในแนวปะการังยังมีพฤติกรรมที่น่าสนใจที่สามารถพบเห็นได้ง่าย และมีบทบาทต่อแนวปะการังมากคือ การกินอาหาร ซึ่งมีผลต่อความสมดุลและการพัฒนาของแนวปะการังโดยที่สำคัญๆ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- การเป็นผู้ควบคุมสมดุลของประชากรสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของปลาในแนวปะการัง เนื่องจากมีผลต่อกระบวนการสร้างและสลายอันเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการพัฒนาของแนวปะการัง ปลาจะทำหน้าที่ควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจสร้างความเสียหายต่อแนวปะการัง และควบคุมประชากรปลาด้วยกันให้อยู่ในภาวะสมดุล
- การเป็นผู้ถ่ายทอดพลังงานจากระบบนิเวศหนึ่งสู่ระบบนิเวศอื่นๆ จากการกินอาหารที่หลากหลาย และมีการเคลื่อนย้ายแหล่งที่อยู่อาศัยจากแหล่งอาศัยหนึ่งไปสู่แหล่งอาศัยอื่น ทำให้ปลาเป็นผู้ทำให้เกิดการถ่ายเทของพลังงานจากแนวปะการังไปยังแหล่งอาศัยอื่นๆ ด้วย
วิธีการศึกษาชนิดและความชุกชุมของปลาในแนวปะการัง
การสำรวจปลาในแนวปะการังในพื้นที่แนวปะการังบริเวณเกาะเต่า และเกาะนางยวนรวมทั้งหมด 56 สถานี โดยใช้แนวสำรวจเดียวกับแนวสำรวจปะการัง ซึ่งมีวิธีการศึกษาดังนี้
การศึกษาชนิดของปลาในแนวปะการัง
การทำบัญชีรายชื่อชนิดปลาที่พบในแนวปะการังบริเวณเกาะเต่าและเกาะนางยวน ทำโดยการว่ายน้ำสำรวจทั้งแบบ snorkeling และแบบ SCUBA diving จดบันทึกชนิดของปลาที่พบในบริเวณสถานีที่กำหนดทั้งหมด และบริเวณอื่นๆ รอบเกาะเต่า
การศึกษาความชุกชุมของปลาในแนวปะการัง
การศึกษาความชุกชุมของปลาทำโดยใช้วิธีการทำสำมะโนประชากรปลาด้วยสายตา (Fishes visual census technique) ตามวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการสำรวจประชากรปลาในแนวปะการังในโครงการ ASEAN-Australia: Coastal Living Resources ซึ่งเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการศึกษาประชากรปลาในแนวปะการัง (English et al., 1994) โดยใช้นักดำน้ำที่มีความสามารถในการจำแนกชนิดปลา ดำน้ำทำการจำแนกชนิดและนับจำนวนปลาตามแนวสำรวจ (transect line) ความยาว 30 เมตร จำนวน 6 แนวสำรวจต่อสถานี โดยใช้สายตามองไปข้างหน้าและแผ่กว้างออกไปทางด้านของแนวสำรวจทั้งซ้ายและขวา ด้านละ 2.5 เมตร โดยมีการวางแนวสำรวจแบบสุ่มที่ระดับความลึก 2 ระดับ ระดับความลึกละ 3 แนว และสามารถเป็นตัวแทนของสังคมปะการังแบบตื้น และตัวแทนของสังคมปะการังแบบลึก (ระดับความลึกขึ้นกับสภาพของแนวปะการังในพื้นที่) ทั้งนี้จะทำการประเมินเฉพาะกลุ่มปลาที่สามารถมองเห็นได้ชัด โดยไม่พิจารณาปลาขนาดเล็กๆ ตามพื้นหรือปลาที่มีพฤติกรรมหลบซ่อนตามซอก-โพรง เช่น ปลาบู่ (Gobiidae) ปลาตั๊กแตนหิน (Blenniidae) ปลามังกรน้อย (Callionymidae) เป็นต้น