Lobophora sp. เป็นสาหร่ายสีน้ำตาลอมเหลือง มีลักษณะแบน รูปร่างคล้ายพัดแผ่ขนานไปกับพื้นโดยมีส่วนปลายไม่ติดกับพื้นผิว ส่วนใหญ่ ขึ้นซ้อนกันบนกิ่งด้านล่างของปะการังเขากวาง พบในเกือบทุกบริเวณของเกาะโลซินที่มีปะการังเขากวางแบบกิ่ง
Caulerpa racemosa var. peltata เป็นสาหร่ายสีเขียวหรือเขียวเข้ม ส่วนปลายมีลักษณะเป็นแผ่นกลม แขนงย่อยตั้งตรง สามารถเลื้อยยึดเกาะไปตามวัสดุใต้น้ำ ส่วนใหญ่แทรกขึ้นบนกิ่งปะการังเขากวางมีชีวิต หรือปะการังตาย บางครั้งพบขึ้นแทรกปนอยู่กับพวกสิ่งมีชีวิตเกาะติดพวกพรมทะเล โดยในบริเวณที่ไม่ลึกและมีแสงจัด สาหร่ายชนิดนี้จะมีขนาดต้นค่อนข้างใหญ่สมบูรณ์กว่า เมื่อเทียบกับบริเวณที่อยู่ลึกหรือแสงน้อย
Canistrocarpus cervicornis เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล มีแขนงตั้งตรง ลักษณะเป็นแถบพันกันเล็กน้อย แตกแขนงแบบคู่เป็นมุมแหลม ส่วนใหญ่ขึ้นเป็นบริเวณกว้างบนพื้นทรายปนเศษปะการัง ถัดจากโซนปะการังเขากวางออกไปในที่ลึกประมาณ 24 เมตร ขึ้นไป
Leptolyngbya sp. อยู่ในกลุ่มสาหร่ายเขียวแกมน้ำเงิน มีลักษณะเป็นเส้นใยเล็กละเอียด สีครีมจนถึงสีเขียวและน้ำตาล อยู่รวมกันเป็นกระจุกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-10 เซ็นติเมตร บนพื้นหินหรือปะการังตายในที่ลึก 10-22 เมตร
นอกจากนี้ยังพบสาหร่ายขนาดใหญ่ชนิดอื่น ๆ ในปริมาณไม่มากนัก ได้แก่ สาหร่ายหินปูน (calcareous algae; coralline red algae) สาหร่ายสีน้ำตาลในสกุล Padina sp. และ Dictyota friabilis สาหร่ายสีเขียวชนิด Neomeris annulata และ Bryopsis pennata ส่วนสาหร่ายขนาดเล็ก (<5 มม.) ที่พบในบริเวณนี้ ส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายสีแดง ซึ่งที่พบในเกือบทุกสถานี ได้แก่ Pterocladiella caloglossoides, Gelidiella sp., Ceramium sp., Hypnea- spinella, Caloglossa sp., Heteropsyphonia sp., Gelidiopsis variabilis, Leptolyngbya sp., Jania sp. ขึ้นเคลือบบนเศษปะการังตายหรือเป็นก้อนสีแดงคล้ายหินพบอยู่ตามพื้นในแนวปะการัง เป็นที่น่าสังเกตว่าสาหร่ายขนาดใหญ่ที่พบในบริเวณนี้มีความหลากหลายน้อย ส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายสีน้ำตาลและสาหร่ายสีแดงขนาดเล็ก ทั้งนี้การกระจายของสาหร่ายบริเวณเกาะโลซินอาจถูกจำกัดโดยปัจจัยหลายประการ ดังนี้
1. ปริมาณธาตุอาหาร เนื่องจากบริเวณนี้อยู่ไกลจากฝั่งและแหล่งของสารอาหารจากแผ่นดิน ทัศนวิสัยใต้น้ำในช่วงที่ทำการสำรวจประมาณ 20 เมตร ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นเช่นปะการังสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่าสาหร่าย
2. กระแสคลื่นลม เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเกาะขนาดเล็กมีลักษณะเป็นกองหินที่โดดเดี่ยวอยู่ห่างฝั่ง ทำให้ได้รับอิทธิพลจากคลื่นอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการยากที่สาหร่ายจะเกาะติดได้
3. ปริมาณแสง แม้ว่าส่วนในบริเวณที่ลึกลงไปแสงจะสามารถส่องถึงได้ แต่ความยาวคลื่นแสงที่สามารถส่องลงไปในที่ลึกจะเหมาะกับสาหร่ายบางชนิดเช่น สาหร่ายสีแดงและสีน้ำตาล เท่านั้น
4. พื้นที่ลงเกาะอาจเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการควบคุมปริมาณสาหร่าย เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกครอบคลุมด้วยปะการังเขากวางมีชีวิต ทำให้ขาดพื้นที่ในการลงเกาะ นอกจากนี้ร่มเงาจากโครงสร้างของปะการังทำให้มีเพียงสาหร่ายไม่กี่ชนิดสามารถขึ้นได้ เช่น Lobophora sp. ซึ่งขึ้นบนซากกิ่งปะการังเขากวาง
5. ปริมาณปลากินพืชซึ่งมีจำนวนมากทั้งในแง่ชนิดและปริมาณ จากการสังเกตในพื้นที่พบว่าปลาส่วนใหญ่ที่พบในบริเวณนี้เป็นปลาขนาดเล็กที่กินพืช (herbivores) และแพลงก์ตอน (planktivores) และปลาที่กินอาหารตามโอกาส (opportunistic feeders) ส่วนปลากินเนื้อเช่น ปลาเก๋า ปลากะพง มีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนปลาอื่น ๆ รวมทั้งขนาดของแหล่งที่อยู่อาศัยอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณสาหร่ายมีจำนวนไม่มากนัก
แสดงชนิดสาหร่ายบริเวณแนวปะการังเกาะโลซิน
แสดงตัวอย่างสาหร่ายที่พบบริเวณแนวปะการังเกาะโลซิน
![]() |
![]() |
Udotea papillosa | Caulerpa macrodisca |
![]() |
![]() |
Dictyota bartayresiana | Botryocladia skottsbergii |