ข้อมูลด้านกิจกรรมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยอาจเป็นกิจกรรมในพื้นที่ เพื่อตอบสนองความต้องการของคน ชุมชน และองค์กรทางสังคมต่างๆ แต่มีผลต่อทรัพยากรประมงชายฝั่งในพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่
การคุกคามจากมนุษย์ต่อแนวปะการัง
การทอดสมอเรือในแนวปะการัง การลากอวน ผ่านแนวปะการังโดยใช้อวนรุน อวนลาก อวนลากลูกหิน หรืออวนลากข้าง อวนรุนในอ่าว ฯลฯ เนื่องจากบริเวณหมู่เกาะกระ เป็นหมู่เกาะแห่งเดียวในบริเวณนี้ เรือประมงขนาดใหญ่ จึงได้อาศัยเป็นที่หลบคลื่นลม และมักจะมีการทิ้งสมอเรือลงในแนวปะการัง สมอเรือเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังบริเวณทิศใต้ของเกาะกระหลายบริเวณ แม้ว่าจะเคยมีหลายหน่วยงานนำทุ่นจอดเรือไปจัดวาง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากบริเวณที่จัดวางทุ่น มักจะอยู่ห่างจากแนวเกาะซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ออกมานอกแนวปะการัง ซึ่งทำให้เรือไม่ใช้ทุ่นดังกล่าวในการจอดเรือ แต่จะเข้ามาใกล้ตัวเกาะและทิ้งสมอในแนวปะการังแทน และทุ่นจอดเรือมักจะมีอายุการใช้งานสั้น เชือกขาดภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้การที่มีเรืออวนลาก ลากเรือผ่าน ช่องระหว่างเกาะกระ และเกาะบริวาร เพื่อจับปลาหน้าดิน มีผลโดยตรงต่อการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน การลดปริมาณสัตว์น้ำ (Stock Size) รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการรบกวนและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ขยายพันธุ์ และอนุบาลสัตว์น้ำ ในบางครั้งอวนเหล่านี้ก็ลากผ่านกองปะการัง และปะการังอ่อนที่อยู่ที่ความลึก ๘๐ ฟุต เป็นต้น ไปบริเวณกองหินเรือใบ ยังพบซากอวนขาดติดพันกับแนวปะการัง ทั้งนี้ในช่วงที่มีกิจกรรมการทำความสะอาดเกาะประจำปีนั้น ขยะส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเป็นเครื่องมือประมง และมีรายงานว่าการคุกคามดังกล่าวส่งผลถึงโลมาอิรวดีหรือโลมาสีชมพู โดยปลากะตักซึ่งเป็นอาหารของโลมาและอาศัยอยู่มากบริเวณนี้ร่อยหรอลงมาก นอกจากนี้การคุกคามแนวปะการังซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดทรายให้กับชายหาดบริเวณเกาะกระ อาจส่งผลกระทบต่อหาดทรายซึ่งเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล และส่งผลต่อความสวยงามบริเวณหาดทรายเกาะกระซึ่งกำเนิดมาจากแนวปะการังได้ และยังเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างชาวประมงและหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการดูแลโดยตรงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
การลักลอบจับเต่าทะเลและนำไข่เต่าไปขายหรือบริโภค
ปัจจุบันเต่าทะเลได้ถูกคุกคามจากหลายสาเหตุ สาเหตุหลักคือมนุษย์ ในการจับเต่าทะเลไปบริโภคและทำเครื่องประดับ เก็บไข่เต่ามาบริโภคเนื่องจากมนุษย์มีค่านิยมในการบริโภคไข่เต่า ทำให้ความต้องการไข่เต่าทะเลสูงมาก ราคาไข่เต่าจึงสูงมาก ปัญหาความเสื่อมโทรมของท้องทะเลขยะที่มนุษย์สร้างและทิ้งในทะเลจำนวนมาก ทำให้เต่าทะเลบริโภคเศษขยะที่มีมลพิษเหล่านั้นเข้าไปและเสียชีวิต เต่าทะเลจึงลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การที่ชายหาดที่เป็นที่วางไข่ ถูกบุกรุกโดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้สถานที่วางไข่ของเต่าถูกรบกวน ในอนาคตเต่าอาจเปลี่ยนสถานที่ในการวางไข่ นอกจากนี้ การติดเครื่องมือประมง ทั้งอวนลาก อวนลอย เบ็ดราว หน้าแหล่งวางไข่เต่าทะเล โดยเฉพาะในฤดูวางไข่เต่า ยังเป็นตัวการสำคัญที่อาจทำลายพันธุ์เต่าทะเลได้
การเข้ามาของนักท่องเที่ยวและธุรกิจท่องเที่ยวที่มากเกินศักยภาพ
นักท่องเที่ยวขาดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตน โดยบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงของพื้นที่หมู่เกาะกระ คือ บริเวณ ชายหาดด้านทิศใต้ของเกาะกระใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่วางไข่เต่า โดยบริเวณนี้จะเป็นจุดพักของนักท่องเที่ยวหรือชาวประมงที่เข้ามา ในพื้นที่เพื่อพักผ่อน นอกจากนี้กิจกรรมการตกปลาแบบนันทนาการในหมู่เกาะกระ ยังถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมและเป็นที่รู้จักกันดีของนักตกปลาแบบนันทนาการ ว่ากันว่ารอบๆ เกาะกระเป็นแหล่งอาศัยของปลาดุกและปลาช่อนทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลอ่าวไทย ทำให้นักตกปลาทั่วประเทศให้ความสนใจและคาดหวังจะได้มีโอกาสเดินทางไปตกปลาที่เกาะกระ นอกจากนี้ยังมีปลาชนิดอื่นที่มักกินเบ็ด ได้แก่ ปลาโมง ปลาโฉมงาม ปลากะพงแดง ปลาช่อนทะเล ส่งผลให้ปริมาณปลาขนาดใหญ่บริเวณหมู่เกาะกระลดลงเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับช่วงปี 2542 ที่คณะผู้ศึกษาของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เข้ามาสำรวจหมู่เกาะกระเป็นครั้งแรก ทั้งนี้หากไม่มีการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม เกาะกระอาจจะเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วจากการที่นักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่มากเกินไป
ปัญหาการเข้ามาหลบลมของเรือประมงขนาดกลางที่มีจำนวนมากเกินไป
ทำให้ทุ่นจอดเรือที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับปริมาณเรือ และการที่เรือจอดพ่วงกันหลายๆ ลำ ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักเรือได้เนื่องจากทุ่นไม่แข็งแรงพอ
สถานการณ์ปัญหาขยะทั้งบนเกาะและในทะเล
แม้ว่าเกาะกระจะไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่เนื่องจากมีบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งนักท่องเที่ยว ชาวประมงทั้งประมงไทยและต่างชาติ เดินทางไปเกาะกระเพื่อวัตถุประสงค์ต่างกัน แต่มักก่อขยะทั้งบนเกาะและในทะเล 80% ของขยะส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือประมง ที่เหลือเป็นขยะที่มาจากกิจกรรมทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงหรือกิจกรรมการท่องเที่ยว สำหรับขยะบนเกาะ มีทั้งขวดและถุงพลาสติกพลาสติก ขวดแก้วเหล้าเบียร์ กล่องโฟม ทั้งนี้ไม่มีระบบจัดการขยะใดๆ ก่อให้เกิดปัญหาขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้น ที่ผ่านมาแม้เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์จะเก็บขยะบนเกาะขึ้นฝั่งทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่ แต่ยังพบว่ามีขยะอีกจำนวนมากที่เพิ่มจำนวนขึ้น
มลพิษจากเมือง ชุมชน
และนากุ้งที่ปล่อยน้ำเสียและขี้เลนลงสู่ชายฝั่ง ทำให้คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งเสื่อมโทรมลง ส่งผลต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและศักย์การผลิตของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งจะกระทบโดยอ้อมต่อพื้นที่เกาะกระ เนื่องจากชาวประมงชายฝั่ง ต้องออกเรือไปทำประมงไกลขึ้น บริเวณเกาะกระ จึงอาจเป็นจุดเสี่ยงเนื่องจากมีทรัพยากรสัตว์ทะเลที่หลากหลาย แม้จะห่างจากฝั่งและเสี่ยงต่อการเสียหายของเครื่องมือประมง แต่ชาวประมงบางคนกล่าวว่า การทำประมงบางเที่ยวก็คุ้มกับการลงทุนเดินเรือออกไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ปล่อยมลพิษกับชาวประมงและหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังพบขยะสิ่งปฏิกูลที่ถูกคลื่นซัดจากทะเลเข้ามาฝังกลบบริเวณชายหาด ซึ่งแม้จะมีกิจกรรมการทำความสะอาดเกาะเป็นประจำทุกปี แต่ยังเป็นปัญหาที่สำคัญอยู่
พายุและคลื่นลม
การเกิดพายุและคลื่นลมทำให้เกิดคลื่นรุนแรงส่งผลให้กิ่งก้านของปะการังแตกหักเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามซากปะการังเหล่านี้จะถูกกัดกร่อนให้กลายเป็นเม็ดทรายที่มีสีขาวสวยงามบริเวณชายหาด
ปลาหลายชนิดในแนวปะการังจะกินปะการังเป็นอาหาร
ปลานกแก้ว ปลาผีเสื้อ ซึ่งเป็นวิถีตามธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสัตว์บางชนิดที่อาศัยในแนวปะการัง เช่น ฟองน้ำ หอย หนอน ที่เจาะปะการังให้เป็นโพรงสำหรับเข้าไปอาศัย และทำให้โครงร่างแข็งของปะการังเกิดการกัดกร่อน ผุพังในเวลาต่อมา
การระบาดของดาวมงกุฎหนาม
เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบันในแนวปะการังของหมู่เกาะกระ ก็ยังคงเห็นร่องรอยของปะการังที่ถูกกินโดยดาวมงกุฎหนาม แต่ยังคงเป็นปกติตามธรรมชาติ ยังไม่อยู่ในขั้นของการระบาด
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว
ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีสาเหตุมาจากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงผิดปกติติดต่อกันยาวนานในช่วงฤดูแล้ง คืออุณหภูมิเพิ่มสูงถึง 31 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิปกติ 29 องศาเซลเซียส ทำให้แนวปะการังทางฝั่งทะเลอ่าวไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2541 แต่ก็พบว่าปะการังฟอกขาวส่วนใหญ่สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ภายใน 1 ปี ยกเว้นในกลุ่มปะการังเขากวางที่มักจะตายไป เนื่องจากเป็นกลุ่มปะการังที่ทนต่อการฟอกขาวได้น้อยมาก และใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะฟื้นกลับคืนมา ทั้งนี้ จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2540 พบว่าแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะกระที่เคยได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวเมื่อปี พ.ศ 2541 ได้ฟื้นกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว
ตะกอน
แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะกระที่เสียหายจากการเกิดตะกอนจะเห็นเด่นชัดตามบริเวณขอบแนวปะการัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกวนของตะกอนที่พื้นดิน จากคลื่น และการกวนพื้นทะเลโดยสายโซ่ ของเรืออวนลาก
สภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันโลกได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) ซึ่งทำให้เกิด ผลกระทบต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นระดับน้ำทะเลที่อาจมีระดับเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ที่จะถูกกัดเซาะและเกิดน้ำท่วม ตลอดจน การเกิดพายุคลื่นลมที่อาจจะมีจำนวนมากขึ้นและรุนแรงขึ้น หรือมีทิศทางการเคลื่อนตัวที่แตกต่างไปจากที่เคยเกิดการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าจะยากขึ้น จากคำบอกเล่า ของชาวประมงอำเภอปากพนัง กล่าวว่าระดับน้ำ และสภาพอากาศในทะเลอ่าวไทย รวมทั้งเขตเกาะกระ เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 - 5 ปี ที่ผ่านมา โดยพบว่า ระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 30 - 40 ซม. รวมทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในอดีตเรือประมงขนาดเล็กสามารถเดินทางไปเกาะกระได้ ตั้งแต่เมษายนจนไปถึงกรกฎาคม แต่ปัจจุบันสามารถไปได้ในช่วง เมษายนถึงกลางเดือนมิถุนายนเท่านั้น เนื่องจากคลื่นลมแปรปรวน โอกาสในการไปเกาะกระและออกห่างจากฝั่งเพื่อท่องเที่ยวหรือตกปลาจึงน้อยลง นอกจากนี้ ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ได้แก่ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณตำบลท่าพญา และขนาบนาก เนื่องจากสภาพพื้นที่หลังชายหาด เป็นสวนมะพร้าวและนากุ้ง และโครงสร้างทางกายภาพของชายหาดเป็นทรายและโคลนปนทรายเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเปราะบางต่อการถูกกัดเซาะชายฝั่ง ประกอบกับพื้นที่แถบนี้ ตั้งอยู่ในแนวสะสมการกัดเซาะชายฝั่งของอ่าวไทยซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ปลายแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงมาถึงปากทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา การกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ นอกจากมีผลกระทบอย่างรุนแรงไม่เฉพาะต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ยังมีส่วนรบกวนและทำลายแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำชายฝั่งโดยตรง ทำให้ชาวประมงต้องออกไปทำการประมงไกลขึ้น จนอาจรบกวนพื้นที่เกาะกระได้
จากสภาพข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ในปัจจุบันหมู่เกาะกระยังมีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่ แต่เริ่มมีภัยคุกคามจากการประมงและการท่องเที่ยวทำให้มีแนวโน้มที่สภาพธรรมชาติจะเสื่อมโทรมลง ถึงแม้จะมีการประกาศขึ้นทะเบียนหมู่เกาะกระเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2556 แต่ก็ยังไม่มีการบริหารจัดการและกฎหมายที่คุ้มครองดูแลที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็น ที่จะต้องมีมาตรการในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อสงวนไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติเดิม ให้เป็นแหล่งพันธุ์ของปะการังและสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ในฝั่งอ่าวไทย และเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน