"บทสรุปการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ ด้านขยะทะเล"
ประเด็นสำคัญจากบทสรุปของประธาน ในช่วงการประชุมแบบขยายของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 มีดังนี้
1. ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงภาคีเครือข่ายประเทศและองค์กรนานาชาติ ต่างแสดงความเป็นห่วงกังวลอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณขยะทะเล ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรและระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง สุขภาพประชาชน รวมถึงผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค
2. ประเทศไทยในฐานะของประธานในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษฯ ได้ประกาศให้กลุ่มประเทศภาคีเครือข่ายและองค์กรนานาชาติได้ทราบถึงผลการหารือและการตัดสินใจร่วมกันของรัฐมนตรีอาเซียน ที่ตกลงจะนำเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ได้แก่ “ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน” เพื่อขอการรับรองในที่ประชุมระดับผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ ที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นข้อผูกพันในการยืนยันท่าทีของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะพยายามจัดการกับปัญขยะทะเล พร้อมทั้งยินดีจะนำเสนอ “กรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล” ในวาระเพื่อทราบของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลดังกล่าว
3. ที่ประชุมรับทราบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนได้ใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ในการพัฒนานโยบายเพื่อการต่อสู้กับปัญหาขยะทางทะเล นอกจากนี้รัฐมนตรีรับทราบถึงลักษณะที่เป็นปัญหาข้ามพรมแดนของขยะทะเล ซึ่งประเทศหรือองค์กรใดๆ มิอาจดำเนินการโดยลำพังให้ประสบผลสำเร็จได้ จึงมีความจำเป็นทีจะต้องเร่งส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคในระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงการขยายความร่วมมือกับประเทศภาคีเครือข่ายและองค์กรนานาชาติในการแก้ไขปัญหา
4. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความเห็น และประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินการและข้อริเริ่มต่าง ๆ ในระดับประเทศของภูมิภาคอาเซียนในแก้ไขปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางที่พันธมิตรจะให้การสนับสนุน หรือเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมรวมทั้งหลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อน
5. ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินการร่วมกันในลักษณะของความร่วมมือแบบพหุภาคี เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาคและระดับโลกในการต่อสู้และแก้ไขกับปัญหาขยะทะเล รวมทั้งตกลงที่จะสานต่อการเจรจาและความร่วมมือด้านการจัดการปัญหาขยะทะเลและเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง
6. ประชุมคาดหวังว่าจะมีการดำเนินการตามกรอบปฏิบัติของอาเซียนด้านขยะทะเลรวมถึงการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน และผลักดันให้เกิดแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนด้านขยะทะเล โดยกลุ่มประเทศภาคีเครือข่ายและองค์กรนานาชาติ ได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับอาเซียนในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเลดังกล่าว